28 ข้อควรรู้สำหรับการมีบ้าน

You are currently viewing 28 ข้อควรรู้สำหรับการมีบ้าน
28 ข้อควรรู้สำหรับการมีบ้าน

28 ข้อควรรู้สำหรับการมีบ้าน

  1. บทบาทใหม่ของชีวิต: การมีบ้านหลังแรก คือการเปลี่ยนบทบาทใหม่ในชีวิต ในที่นี้อาจรวมถึงการแยกออกมาอยู่เอง หรือแต่งงานเพื่อสร้างครอบครัวใหม่ และคุณก็ต้องมีเรือนหอเพื่อการนั้น หากเป็นเหตุผลอย่างหลัง นี่ไม่ใช่เรื่องของคุณคนเดียวอีกต่อไป แต่คุณต้องวางแผนและความมั่นคงให้กับคู่ชีวิตและเจ้าตัวน้อยที่กำลังจะเกิดมา
  2. ลงหลักปักฐาน: ถ้าคุณมีแผนจะย้ายที่อยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเพราะเปลี่ยนงานหรือแค่อยากหาอะไรใหม่ๆ ในชีวิต การเช่าน่าจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณอยากลงหลักปักฐานและกลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน (ไปอย่างน้อยๆ 5-10 ปี) คุณก็ควรมีบ้านในบริเวณนั้นได้แล้ว
  3. อธิปไตยในเขตรั้ว: ข้อดีที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ก็คือ เมื่อคุณมีบ้านของตัวเอง คุณจะทำอะไรก็ได้ (ซึ่งถูกกฎหมายนะครับ) คุณจะเลี้ยงสัตว์กี่ตัว คุณจะชีวิตแบบไหน จะแต่งห้องอย่างไร หรือไม่ทำอะไรเลย ก็ไม่มีใครว่า ตราบเท่าที่คุณยังทำสิ่งเหล่านั้นในเขตบ้านของคุณ และไม่กระทบกับคนภายนอก
  4. มั่นคงและปลอดภัย: การมีบ้านของตัวเอง ให้ความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัยและดีต่อใจอย่างมาก คุณคงเคยได้ยินคำพูดที่ว่า “ไม่มีที่ไหนอุ่นใจเท่าที่บ้าน” ซึ่งนั่นก็ไม่ได้เกินเลยแต่อย่างใด นอกจากความรู้สึกผ่อนคลายแล้ว การมีบ้านของตนเองสามารถรับประกันได้ว่า คุณไม่ต้องเผชิญสถานการณ์อย่าง โดนเจ้าบ้านไล่ หรือการแกล้งขึ้นค่าเช่าโดยไม่เป็นธรรม
  5. ผ่อนบ้านลดภาษี: สิ่งหนึ่งที่คุณต้องระลึกไว้เสมอ โดยเฉพาะเหล่ามนุษย์เงินเดือนทั้งหลายก็คือ ค่าผ่อนบ้านของคุณนั้นสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในแต่ละปีได้ โดยประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้มีเงินได้มีสิทธิในการหักลดหย่อนภาษีจากดอกเบี้ยที่ชำระไปเพื่อการผ่อนบ้าน โดยให้ลดหย่อนสูงสุดถึงปีละ 100,000 บาท
  6. ซื้อบ้านก็ได้บ้าน: ก็แน่ละ ถ้าคุณลงทุนซื้อบ้าน คุณก็ต้องได้บ้านมาเป็นกรรมสิทธิ์ และไม่ใช่แค่นั้น คุณยังได้ที่ดินข้างใต้บ้านคุณอีกด้วย ลองคิดดูว่า ระหว่างคุณต้องจ่ายค่าเช่าให้เจ้าของบ้านทุกๆ เดือน แล้วไม่ได้อะไรเลย กับการผ่อนบ้านในอัตราที่ต่างกันไม่มากนัก แต่ในท้ายที่สุดทุกอย่างก็เป็นของคุณ คุณรู้ดีว่าควรเลือกทางไหน
  7. จะซื้อก็รีบซื้อ: เราไม่ได้บอกให้คุณต้องเดินไปซื้อบ้าน ณ บัดนี้ เพียงแต่ความจริงที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็คือ ราคาบ้านไม่เคยลดลง ราคาอสังหาริมทรัพย์จะเพิ่มขึ้นตามปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านทำเล ความเจริญของเมืองที่ขยายตัวเข้ามา หรืออัตราเงินเฟ้อ เพราะฉะนั้น หากคุณเจอบ้านที่ใช่ และมีแรงพอจะเอื้อมถึง อย่ายึกยักชักช้า
  8. เปลี่ยนมือคือกำไร: ตอนนี้คุณรู้แล้วว่า บ้าน (หรืออันที่จริงคือที่ดินของบ้าน) เป็นสินทรัพย์ที่จะทวีค่าขึ้นเรื่อยๆ ตามกาลเวลา ฉะนั้นเมื่อใดก็ตามที่คุณจะขายบ้าน คุณก็คาดหวังกำไรที่เหมาะสมได้ไม่ยากเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากทำเลตรงนั้นมีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี หรือคุณตบแต่งบ้านอย่าง “ว้าว”
  9. ปล่อยเช่าก็กำไร: การมีบ้าน แต่ไม่ได้อยู่ก็ยังถือว่าเป็นกำไร เพราะคุณสามารถปล่อยให้คนอื่นมาเช่าได้ คุณจะผ่อนไปปล่อยเช่าไปพร้อมกันก็ยังได้ มิหนำซ้ำ คุณแค่กินส่วนต่างระหว่างค่าเช่าและค่างวดรายเดือน เป็น passive income ที่ไม่ต้องไปต่อแขนขาให้ใครด้วย คุ้มไหมล่ะ
  10. เปลี่ยนเป็นทุนก็ยังกำไร: บ้านคือสินทรัพย์ที่มีค่าสุดเมื่อคุณอยากแปลงเป็นทุน เพราะสถาบันการเงินทุกแห่งอยากคุยกับคนที่มีบ้าน และพวกเขาก็เลือกจะพิจารณาปล่อยเงินกู้ให้กับลูกค้าประเภทนี้ก่อน หากคุณต้องการเงินก้อน บ้านคือคำตอบอย่างจริงแท้แน่นอนอย่างที่สุด และหากเกิดความผิดพลาดขึ้น ก็ไม่ใช่ว่าคุณจะโดนยึดบ้านในทันทีเสียเมื่อไหร่
  11. ตลาดเป็นของคุณ: ปัจจุบันผู้บริโภคคือ ผู้กำหนดทิศทางตลาด คุณมีทางเลือกมากมายสำหรับบ้านสักหลัง โดยมีความพอใจของคุณเองเป็นที่ตั้ง คุณไม่ต้องกังวลกับอะไรทั้งนั้นครับ เพราะข้อเสนอดีๆ ไม่ได้มีมาแค่ครั้งเดียว ลองใจเย็นๆ พิจารณาตัวเลือกทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของรูปแบบ ทำเล พื้นที่ส่วนกลางและค่าใช้จ่าย เพื่อคุณจะได้บ้านในฝันครับ
  12. บ้าน vs คอนโด: จริงๆ แล้วทั้งบ้านและคอนโดมิเนียมก็มีจุดเด่นจุดด้อยแตกต่างกันไป ถ้าคุณต้องการพื้นที่ใช้สอย ต้องการกรรมสิทธิ์ในที่ดิน และต้องการความเป็นส่วนตัว บ้านหรือทาวน์โฮมสักหลัง น่าจะตอบโจทย์คุณได้ครบถ้วนตามต้องการ เพราะสุดท้ายแล้วใครๆ ก็อยากได้ที่กว้างๆ ไว้ทำอะไรเป็นส่วนตัวด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งคอนโดให้คุณไม่ได้หรอก
  13. บ้านเล็กสเปคใคร: สำหรับคู่แต่งงานใหม่ ที่ต่างคนต่างทำงาน บ้านขนาดกำลังเหมาะสักหลังก็น่าจะพอ อาจจะเลือกทาวน์โฮมย่อมๆ พอมีสวน มีพื้นที่สำหรับกิจกรรมต่างๆ เราไม่ปฏิเสธว่าการมีบ้านสวยๆ หลังใหญ่ๆ อาจจะดีกว่าในบางอย่าง แต่ถ้าสมาชิกครอบครัวคุณมีแค่ 2-3 คน การดูแลพื้นที่มากๆ ไม่ใช่เรื่องสนุกแน่นอน ยังไม่รวมว่าคุณจะใช้ประโยชน์จากมันไม่คุ้ม และราคาอันแสนสาหัสที่คุณต้องจ่ายด้วย
  14. ฮวงจุ้ยดีจะมีสุข: เพราะบ้านไม่ใช่แค่หลังไหนก็ได้ คุณจะควักเงินที่เก็บมาทั้งชีวิต (หรือแค่บางส่วนของที่คุณมีก็ตาม) เพื่อบ้านหลังแรก คงไม่เป็นการเสียเวลาสักเท่าใดนักที่จะดูว่า บ้านคุณอยู่ตรงไหนของโครงการ มีมุมอับตรงไหนอย่างไรบ้าง ใกล้ส่วนกลาง ใกล้ทางออก หรือเปล่า เพราะนี่คือสิ่งที่คุณจะต้องเผชิญไปตลอดระยะเวลาที่อยู่บ้าน และสำหรับฮวงจุ้ยภายใน โทรหาซินแสได้เลย
  15. ไกลแค่ไหนคือใกล้: ความลังเลหนึ่งของมนุษย์เงินเดือนที่กำลังจะซื้อบ้านก็คือ จะเลือกบ้านใกล้ที่ทำงานแค่ไหนดี โดยมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาประกอบ แต่ทางออกของปัญหานี้อาจจะง่ายๆ เพียงแค่คุณเลือกบ้านที่ขยับออกมาจากตัวเมืองชั้นในเสียหน่อย แต่มีการเดินทางเข้าออกสะดวก ก็น่าจะพอทดแทนได้ … ก็ถ้าบ้านใกล้แต่ไปไหนไม่คล่องตัวจะมีประโยชน์อะไร จริงไหม?
  16. ยิ่งใกล้ยิ่งเจ็บ: ต่อจากข้อที่แล้ว เหตุผลอีกอย่างก็คือ ยิ่งคุณมีบ้านที่ใกล้เขตเมืองมากเท่าใด สนนราคาของบ้านหลังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ เลย คุณอาจจะมีชีวิตที่สะดวกมากขึ้น แต่สิ่งที่หายไปคือ เงินก้อนโตในกระเป๋าทุกๆ เดือน … แต่เราก็ไม่ได้ห้ามอะไรหากคุณคิดว่าเรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหา
  17. ทุกพื้นที่มีประวัติ: นอกจากตัวบ้าน ทำเลที่ตั้งในโครงการแล้ว อย่าลืมค้นหาว่า พื้นที่ในดวงใจของคุณมีประวัติอย่างไรบ้าง เคยประสบปัญหาน้ำท่วมใหญ่ มีหลุมยุบ หรือมีสภาพแวดล้อมที่ถูกต้องตามใจคุณมาก-น้อยเท่าใด ทั้งนี้รวมไปถึงประวัติราคาของบ้านด้วย
  18. ไม่มีเงินกู ก็ใช้เงินกู้: เชื่อว่ายุคนี้มีคนจำนวนน้อยมากเหลือเกินที่ใช้เงินก้อนของตัวเองซื้อบ้าน (แต่ถ้าคุณสามารถทำได้ก็เป็นเรื่องที่ดี) แต่ความจริงก็คือ กว่ามนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ในเกณฑ์เฉลี่ยปกติ จะสามารถเก็บเงินซื้อบ้านได้สักหลัง ป่านนั้นราคาบ้านก็โกยอ้าวไปไกลแล้ว ฉะนั้นทางออกของเรื่องนี้คือ ให้สถาบันการเงินเข้ามาช่วยครับ ถ้าคุณอยากได้บ้าน คุณก็ต้องมีวินัยทางการเงิน หรือที่เรียกว่า “มีสุขภาพทางการเงินที่ดี” หมั่นอัพเดตสมุดคู่ฝากเป็นประจำ คุณก็มีโอกาสกู้ผ่านได้ไม่ยาก
  19. ไหวไหม ล้านละ 7,000: มีการคำนวณง่ายๆ โดยประมาณว่า ในสมัยนี้อัตราการผ่อนบ้านมีหลักคิดว่า คุณต้องจ่ายค่างวดเดือนละ 7,000 บาทสำหรับยอดเงินกู้ 1 ล้านบาท (ระยะเวลา 30 ปี) ถ้าบ้านในฝันของคุณราคาเท่าไหร่ ก็คูณเข้าไปเลยครับว่าสู้ไหวหรือเปล่า และอย่าลืมว่า ยอดหนี้รวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของคุณ ต้องไม่เกิน 50 – 80% ของรายได้
  20. กู้ก่อน ค่อยเลือกบ้าน: จริงๆ นี่เป็นสิ่งที่หลายคนไม่ค่อยทำกัน เพราะโดยปกติแล้ว เรามักจะหาบ้านที่ใช่ก่อน แล้วค่อยกู้เงินมาซื้อถูกไหมครับ แต่สิ่งที่คุณควรจะลองทำก็คือ ยื่นกู้ไปก่อนเพื่อจะรู้ว่า สถาบันการเงินวางใจคุณแค่ไหน และคุณจะมีบ้านในราคาเท่าใดได้บ้าง
  21. อย่าเทหมดหน้าตัก: ตอนนี้คิดเสียว่า คุณกู้บ้านผ่านแล้ว ดีใจด้วยนะครับ จากนี้ก็ขยันทำงานใช้หนี้กันยาวๆ แต่สิ่งที่คุณควรตระหนักอย่างยิ่งยวดก็คือ อย่าได้ทุ่มเงินก้อนนั้นทั้งหมดลงไปกับบ้าน เพราะคุณยังเหลือการตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ และข้าวของต่างๆ ให้ซื้ออีก หรืออย่างน้อยๆ การมีเงินหมุนเวียนติดมือไว้ในช่วงย้ายบ้านใหม่ ก็ย่อมดีกว่าอยู่แล้ว
  22. มือหนึ่งหรือมือไหน: ถ้าคุณสู้ราคาไหว และบ้านเก่านั้นไม่ได้คลาสสิคจนหาไม่ได้อีก หรือมีคุณค่าทางจิตใจอื่นๆ การซื้อบ้านหลังแรกในโครงการใหม่น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าสนใจกว่า เพราะคุณไม่ต้องมานั่งซ่อมแซมโครงสร้างที่เสื่อมไปตามกาลเวลา แถมสไตล์และวัสดุที่ใช้ยังเป็นไปตามสมัยนิยมอีกด้วย
  23. เซลมีไว้ถาม: คนไทยหลายคน ไม่ชอบถาม แล้วก็ไม่ชอบถูกถามด้วย แต่ถ้าคุณจะซื้อบ้าน (ด้วยเงินเก็บครึ่งค่อนชีวิตที่เราคุยกันไปเมื่อครู่) เราวิงวอนด้วยใจจริงว่า คุณต้องถามครับ ถามทุกอย่างเกี่ยวกับบ้านที่คุณสนใจ ให้พนักงานขายทำงานอย่างเต็มที่ได้เลย ไม่ต้องเกรงใจ ท่องไว้ครับว่า คุณต้องแบกหนี้ไป 30 ปี อย่า “หยวน” ง่ายๆ ยิ่งคุณมีข้อมูลมากแค่ไหน คุณก็ได้ประโยชน์มากเท่านั้น
  24. ส่วนกลางต้องไม่กั๊ก: หมู่บ้านจัดสรรสมัยนี้ชูจุดขายตรงพื้นที่ส่วนกลางครับ โดยมาตรฐานของโครงการที่ดีควรจะมี สโมสร, สระว่ายน้ำ, ฟิตเนส, สวนพักผ่อน, สนามเด็กเล่น รวมไปถึงระบบรักษาความปลอดภัยที่คุณวางใจได้ เช่นการใช้ Key Card access, กล้องวงจรปิด, การตรวจตราตลอด 24 ชม. และสัญญาณกันขโมย
  25. ตั้งสติก่อนเซ็นชื่อ: เมื่อถึงเวลาที่ต้องซื้อบ้าน คุณต้องพบกับขั้นตอนมากมายหลายหลาก ที่มาพร้อมกับเอกสารอีกไม่รู้กี่ใบ ตั้งสติแล้วใจเย็นๆ ครับ เพราะอย่าลืมว่า ทุกลายเซ็นของคุณมีความหมาย ถ้าสงสัย ไม่ถูกต้อง อย่าเพิ่งยอมนะครับ อันนี้ก็รวมไปถึง เวลาตรวจรับบ้านด้วยครับ ตรวจให้ละเอียดทุกซอก ก่อนจะรับ ถ้าเจอจุดตำหนิ ให้โครงการแก้ให้ได้
  26. รอเวลารีไฟแนนซ์: มีคำแนะนำที่ว่า เมื่อผ่อนบ้านไปราว 2-3 ปี คุณก็ควรจะทำรีไฟแนนซ์ เพื่อให้ภาระหนี้ของคุณเบาบางลง แต่บางครั้งก็ไม่ใช่แบบนั้นครับ ความจริงคือ ไม่ใช่ว่าการทำรีไฟแนนซ์ทุกกรณีจะสามารถลดดอกเบี้ยได้เสมอไป อย่าผลีผลามไปทำ ถ้าคุณยังไม่ศึกษาว่า อัตราดอกเบี้ยตลอดอายุสินเชื่อของสินเชื่อรีไฟแนนซ์นั้นต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยตลอดสินเชื่อปัจจุบันหรือเปล่า และมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้นจากการรีไฟแนนซ์
  27. ต้องไปดูของจริง: จะซื้อบ้านทั้งที ต้องไปดูบ้านหลังจริงและบรรยากาศโครงการจริงสิครับ อ่านบทความนี้ เลือกโครงการที่โดนใจ แล้วนัดหมายเข้าไปดูเลย ตอนนี้คุณรู้พื้นฐานเกือบทั้งหมดแล้ว
  28. อย่าลืมอยู่บ้าน (ให้มากๆ): และข้อสุดท้าย ถ้าบ้านหลังแรกคือก้าวใหญ่ๆ ก้าวใหม่ของชีวิต เมื่อได้เป็นเจ้าของมันแล้ว อยู่ให้คุ้มครับ เพราะท้ายที่สุดแล้ว บ้านของคุณไม่ได้เป็นแค่เรื่องของ โครงสร้างสวยๆ ทำเลดีๆ แต่บ้านคือ ที่อยู่ของจิตใจ … คุณฝากใจไว้ที่ไหน นั่นคือบ้านของคุณ

Leave a Reply